คุณกำลังมองหาอะไร?

ศู

ศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ แนะผู้ปกครอง ”ดูแลสุขภาพเด็กให้ปลอดภัยในหน้าร้อน และช่วงปิดเทอม”

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

21.03.2568
11
0
แชร์
21
มีนาคม
2568

ศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ แนะผู้ปกครอง “ดูแลสุขภาพเด็กให้ปลอดภัยในหน้าร้อน และช่วงปิดเทอม”

          แพทย์หญิงศรินนา  แสงอรุณ  ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ เปิดเผยว่า ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม - พฤษภาคม เป็นช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย และเป็นช่วงปิดเทอมของเด็กวัยเรียน ทำให้เด็ก ๆ ได้อยู่บ้าน และสนุกสนานกับการทำกิจกรรม แต่เนื่องจากประเทศไทยมักจะมีอากาศที่ร้อนมาก จึงต้องระมัดระวังเรื่องสุขภาพเป็นพิเศษ โดยผู้ปกครองควรดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันโรคภัยไข้เจ็บที่มาพร้อมกับอากาศร้อน

          แพทย์หญิงศรินนา กล่าวต่อไปว่า โรคพบบ่อยในเด็กช่วงหน้าร้อน ที่มากับอาหาร ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง และอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ไม่สะอาด ทำให้มีอาการท้องเสีย อาเจียน ปวดท้อง ส่วนโรคที่มากับความร้อน ได้แก่ 1) โรคลมแดด (Heatstroke) เกิดจากร่างกายไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ ทำให้มีอาการตัวร้อนจัด ไม่มีเหงื่อ ซึม ชัก หมดสติ 2) โรคไข้หวัดแดด มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ แต่มีอาการปวดเมื่อตามตัวมากกว่า และ 3) โรคผิวหนัง เช่น ผดผื่นคัด กลาก เกลื้อน เกิดจากอาการร้อนชื้น และเหงื่อออกมาก ผู้ปกครองสามารถดูแลสุขภาพของเด็กได้โดย ให้เด็กดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ จิบน้ำสะอาดบ่อย ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัด ควรให้เด็กทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงเช้าหรือเย็น และสวมหมวกแว่นกันแดด และทาครีมกันแดด รับประทานอาหารที่สะอาดมีประโยชน์เน้นอาหารที่ปรุงสุกใหม่ และหลีกเลี่ยงอาหารที่เสียง่าย พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 8-10 ชั่วโมงต่อวัน ดูแลสุขอนามัยล้างมือบ่อย ๆ และสังเกตอาการผิดปกติ หากเด็กมีอาการไข้สูง อาเจียน ท้องเสีย หรือมีผื่นขึ้น ควรพาไปพบแพทย์ทันที”

          “กิจกรรมกลางแจ้งที่เหมาะสำหรับเด็กในช่วงปิดเทอม เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เล่นกีฬา ควรทำในช่วงเช้าหรือเย็น และอยู่ในที่ร่ม นอกจากนั้นผู้ปกครองสามารถให้เด็กเล่นดนตรี ทำงานศิลปะ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการและความคิดสร้างสรรค์ หรือฝึกทำอาหารร่วมกับครอบครัว เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว การดูแลสุขภาพเด็กในช่วงหน้าร้อนและปิดเทอม สิ่งที่สำคัญ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้สนุกสนานสุขภาพแข็งแรง โดยเฉพาะการเล่นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติโดยไม่มีผู้ดูแล อาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ เช่น การลื่นตกน้ำ การจมน้ำ หรือเสียชีวิต ผู้ปกครองจึงควรดูแลอย่างใกล้ชิดด้วย” ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ กล่าวในที่สุด

 

* * * * * * * * * * * * * * *

กลุ่มสื่อสารสาธารณะและองค์กรสัมพันธ์ /21 มีนาคม 2568

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน