คุณกำลังมองหาอะไร?

กา

การพัฒนาหลักสูตรนักจัดการน้ำหนักเด็กวัยเรียน (Smart Kids Coacher) ศูนย์อนามัยที่ 3 “( SKC ใหม่ ไฉไล กว่าเดิม )”

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

31.10.2567
1
0
แชร์
31
ตุลาคม
2567

การพัฒนาหลักสูตรนักจัดการน้ำหนักเด็กวัยเรียน (Smart Kids Coacher) ศูนย์อนามัยที่ 3
“( SKC ใหม่ ไฉไล กว่าเดิม )”
ผู้จัดทำ : กลุ่มงานพัฒนาการส่งเสริมสุขภาพวัยเรียน
บ่งชี้ความรู้
ปัจจุบันสภาวะเศรษฐกิจและสังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทำให้วิถีชีวิตคนไทยเปลี่ยนสู่ความเป็นสังคมเมืองที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลกระทบต่อแบบแผนการบริโภคอาหารของครอบครัว และเด็กวัยเรียนซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อการสร้างรากฐานความมั่นคงต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก การบริโภคอาหารที่ต้องอาศัยความรวดเร็วเพื่อความสะดวกต่อการดำรงชีพ ทำให้เกิดค่านิยมใหม่ในเรื่องการบริโภคอาหารประเภทจานด่วน อาหารสำเร็จรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับเด็กวัยเรียน ซึ่งอาหารประเภทนี้ส่วนใหญ่จะมีแป้ง น้ำตาล และไขมันสูง ประกอบกับความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทันสมัย และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ทำให้เด็กวัยเรียนมีการเคลื่อนไหวและออกกำลังกายน้อยลง องค์ประกอบเหล่านี้ เป็นสาเหตุของการเกิดโรคอ้วน
เด็กวัยเรียนที่มีภาวะอ้วนมีโอกาสเป็นโรคร้ายแรงอื่น ๆได้มากกว่าปกติ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน ข้ออักเสบ ขาโก่ง รวมทั้งสมาธิสั้น นอกจากนี้ในกรณีที่เด็กที่ป่วยด้วยโรคอ้วนขั้นรุนแรง มีผลกระทบต่อทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการคั่งของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คือทำให้เกิดกลุ่มอาการ Pickwick an Syndrome ส่งผลขัดขวางต่อการเรียนหนังสือ ทำให้ง่วงนอนทุกครั้งที่นั่ง ยิ่งไปกว่านั้นเด็กหญิงที่อ้วน จะเข้าสู่ภาวะวัยรุ่นเร็วกว่าปกติ ประจำเดือนจะมาเร็ว และกระดูกปิดเร็ว ทำให้สูงได้ไม่เต็มศักยภาพ จึงน่าเป็นห่วงว่าเด็กรุ่นใหม่จะเตี้ยลงเรื่อย ๆ นอกจากนี้ภาวะโรคอ้วนยังมีผลกระทบต่อการเรียนของเด็กอีกด้วย โดยพบว่าเด็กอ้วนส่วนมากมักมีปมด้อยจากรูปร่างของตัวเองและมักถูกเพื่อน ๆ ล้อ ทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน เบื่อหน่ายการเรียนได้ ส่งผลให้เรียนไม่ดี
โรคอ้วนในเด็กกำลังเป็นปัญหาสำคัญที่เพิ่มขึ้นในประเทศที่พัฒนาและกำลัง องค์การอนามัยโลกได้แสดงข้อมูลความชุกของภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนใน 90 ประเทศ (Global Data on Body Mass Index) พบว่าความชุกของภาวะน้ำหนักเกิน (body mass index) BMI ≥25 กก./ม. ในประเทศที่สูงกว่าร้อยละ50 คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย องค์การอนามัยโลกประมาณการว่าทั่วโลกมีประชากรอย่างน้อย 300 ล้านคนที่กำลังเผชิญปัญหา นอกจากนี้มีการศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับระบาดวิทยาของโรคในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า หลังจากวัยทารก เด็กหญิงจะอ้วนมากกว่าเด็กชาย เด็กที่อ้วนเมื่ออายุ 6 ขวบขึ้นไป จะมีโอกาสเป็นผู้ใหญ่อ้วนร้อยละ 25 ในขณะที่เด็กอ้วนเมื่ออายุ 12 ปี จะมีโอกาสเป็นผู้ใหญ่อ้วนมากถึง ร้อยละ 75 พัฒนา (World Health Organization [WHO], 2011)
สำหรับประเทศไทยแนวโน้มภาวะอ้วนในเด็กวัยเรียนมีแนวโน้มสูงขึ้นมากจนน่าเป็นห่วง เด็กในวัยเรียนจะมีสัดส่วนของเด็กอ้วนอยู่ที่ 2 ใน 10 โดยเฉพาะเด็กในเมืองจะอ้วนร้อยละ 20-25 นับเป็นอุบัติการณ์โรคอ้วน ในเด็กไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากสถิติ ดังกล่าวชี้ได้ว่าไทยเป็นประเทศที่มีอัตราโรคอ้วนในเด็กเร็วที่สุดในโลก เฉพาะระยะ 5 ปีที่ผ่านมาเด็กก่อนวัยเรียนอ้วนเพิ่ม 36% และเด็กวัยเรียน 6-13 ปี อ้วนเพิ่มขึ้น 15.5%( 42สง่า ดามาพงษ์ 2558)42 จากข้อมูลระบบ Health Data Center (HDC) ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ปี 2557 เด็กวัยเรียนมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 11.4 ปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 12.5 และปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15 โดยเขตสุขภาพที่ ๓ มีอัตราของภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนเป็นอันดับที่ ๒ ของระดับประเทศ ร้อยละ 19.9 จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นได้ว่าภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ส่วนใหญ่ในทุกจังหวัดพบอัตราชุกในเขตอำเภอเมือง และเขตเทศบาล
ในปี พ.ศ. 2558 รัฐบาลได้มีนโยบายมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขดูแลด้านสุขภาพเด็กวัยเรียน ช่วงอายุ 5 – 14 ปี ให้มีการเจริญเติบโตสมวัย ไม่อ้วน มีสติ รู้คิด มีทักษะชีวิต สามารถจัดการภาวะสุขภาพตนเอง ลด
การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ตอบสนองนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ จึงได้กำหนดตัวชี้วัดในเรื่องดังกล่าวไว้ เพื่อใช้ในการประเมินและติดตามผลการดำเนินงาน โดยมีเป้าหมาย คือ เด็กวัยเรียนมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนลดลงไม่เกิน ร้อยละ 10 และในปีงบประมาณ
2560 กรมอนามัยจึงได้กำหนดเป้าหมายแก้ไขปัญหาทุพโภชนาการในเด็กวัยเรียน ส่งเสริมให้เด็กวัยเรียนสูงดี สมส่วน ไม่อ้วน ไม่ผอม ไม่เตี้ย อย่างน้อยร้อยละ 66
นักจัดการน้ำหนักเด็กวัยเรียน (Smart Kids Coacher: SKC ) เป็นโครงการที่สำนักโภชนาการร่วมกับทุกศูนย์เขตสุขภาพ ได้จัดทำตามนโยบายกรมอนามัย ในปี 2558 เพื่อให้นักวิชาการ เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดการปัญหาภาวะอ้วน ในเด็กวัยเรียน และครูในโรงเรียนที่มีนักเรียนมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน สามารถจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้ โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญ เรื่องอาหาร โภชนาการ การออกกำลังกาย การจัดการด้านอารมณ์ เพื่อควบคุมความอยากอาหาร (3 อ.) แต่เป็นการดำเนินกิจกรรมแบบไม่มีหลักสูตรที่ชัดเจน นักวิชาการสาธารณสุขของแต่ละพื้นที่เป็นผู้ดำเนินงาน ไม่มีการทำงานแบบสหสาขา ทำให้รูปแบบการจัดการน้ำหนักเด็กวัยเรียนยังไม่เหมาะสมกับปัญหา ในปี 2559 สำนักโภชนาการ จึงได้จัดทำคู่มือนักจัดการน้ำหนักเด็กวัยเรียน เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนสำหรับเด็กวัยเรียน และตอบสนอง นโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการขับเคลื่อนงาน เพื่อลดปัญหาภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนในเด็กวัยเรียน ทั้งในระดับเขต จังหวัด และพื้นที่ ซึ่งต้องอาศัยนักวิชาการในการสร้างทีม ครู ก. และ ครู ข. ที่มาจากสหสาขาวิชาชีพและมีความรู้พื้นฐานด้านอาหาร โภชนาการ การออกกำาลังกาย โดยมี พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา หรือพละศึกษา และจิตวิทยา เพื่อการจัดการปัญหาให้บรรลุวัตถุประสงค์
การดำเนินงานที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาศักยภาพและทักษะภาคีเครือข่าย “นักจัดการน้ำหนักเด็กวัยเรียน” (Smart Kids Coacher: SKC) ในเขตสุขภาพที่ 3 โดยการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการคัดกรอง ส่งต่อ และแก้ปัญหาเด็กอ้วนกลุ่มเสี่ยงในสถานศึกษา สถานบริการสาธารณสุขและคลินิก DPAC ร่วมกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์การดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการติดตามงานในพื้นที่ เพื่อรับทราบปัญหา และให้คำปรึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงาน
ในปี 2560 กลุ่มพัฒนาการส่งเสริมสุขภาพวัยเรียนร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพ ในศูนย์อนามัยที่ 3 โดยการบูรณาการร่วมกันระหว่างแนวทางการจัดการนำหนักเด็กวัยเรียนที่ผ่านมา คู่มือนักจัดการน้ำหนักเด็กวัยเรียนจากสำนักโภชนาการ และโครงการ ChOPA & ChiPA เพื่อให้ได้หลักสูตร SKC ที่เหมาะสมกับปัญหาของพื้นที่ 45โดยมีเป้าหมายให้ ทีมวิทยากรครู ก ที่ผ่านการอบรมการจัดการน้ำหนักเด็กวัยเรียนจากศูนย์อนามัยที่ 3 มีความรู้ด้านอาหาร โภชนาการ การออกกำลังกายและจิตวิทยา รวมถึงเฝ้าระวังภาวะโภชนาการ คัดกรอง ส่งต่อเด็กวัยเรียนสู่สถานบริการสาธารณสุขหรือคลินิก DPAC และติดตามรายงานตามระบบได้อย่างเหมาะสม และที่สำคัญคือทีมครู ก สามารถสร้างทีมเครือข่ายในระดับพื้นที่ได้ 45ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพของเด็กทั้งด้านองค์ความรู้จากการเรียนการสอน รวมถึงการปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาพที่ดีให้กับเด็ก ส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการด้านสุขภาพกายสุขภาพจิต และสติปัญญาที่สมบูรณ์
วัตถุประสงค์ของการจัดการความรู้
1. เพื่อพัฒนาหลักสูตรนักจัดการน้ำหนักเด็กวัยเรียน (Smart Kids Coacher) ศูนย์อนามัยที่ 3 ให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคีเครือข่าย
2. เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการดูแลสุขภาพนักเรียนและสร้างแกนนำนักเรียนด้านสุขภาพได้
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1.ได้หลักสูตรนักจัดการน้ำหนักเด็กวัยเรียน (Smart Kids Coacher) ศูนย์อนามัยที่ 3 ที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคีเครือข่าย
2. เด็กวัยเรียนมีพฤติกรรมสุขภาพ 3อ ที่เหมาะสม

ไฟล์ที่เกี่ยวข้อง

วัยเรียน60.pdf
ขนาดไฟล์ 1,016KB
ดาวน์โหลด 1 ครั้ง
ดาวน์โหลด
แจ้งไฟล์เสีย

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน