กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
AMH (Anti-Mullerian Hormone)
ปัญหามีบุตรยากสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ จากทั้งฝ่ายหญิงและชาย ซึ่งสาเหตุสำคัญประการหนึ่งคืออายุ ยิ่งมีอายุมาก โอกาสในการตั้งครรภ์ยิ่งน้อยลง เพราะปริมาณไข่และคุณภาพของไข่ลดลง แต่บางคู่แต่งงานที่อายุยังน้อย ก็ยังพบปัญหามีลูกยาก ซึ่งอาจจะเกิดจากคุณภาพของไข่ของฝ่ายหญิง ซึ่งการเข้ารับการปรึกษากับแพทย์ พร้อมทั้งรับการตรวจฮอร์โมน AMH ในการตรวจวัดปริมาณของไข่ในรังไข่ จะเป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยวางแผนการรักษาเพิ่มความสำเร็จในการตั้งครรภ์ได้
รู้จักฮอร์โมน AMH
ฮอร์โมนแอนตี้มูลเลอเรียน หรือเรียกสั้นๆ ว่า AMH (Anti-Mullerian Hormone) คือ ฮอร์โมนที่ถูกสร้างมาจากไข่ในรังไข่ของคุณผู้หญิง เป็นตัวบ่งบอกความสามารถในการทำงานของรังไข่และบอกจำนวนไข่ที่สามารถผลิตได้ในขณะนั้น ฮอร์โมน AMH จะมีค่าสูงในสตรีวัยเจริญพันธุ์และลดลงเรื่อยๆ จนหมดไปเมื่อมีอายุมากขึ้นหรือเข้าสู่วัยหมดระดู
ตรวจฮอร์โมน AMH ช่วยเพิ่มความสำเร็จในการตั้งครรภ์อย่างไร
ผู้หญิงแรกเกิดจะมีไข่ในรังไข่ประมาณ 1-2 ล้านฟอง พอเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์หรือเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก ไข่ก็เหลือเพียง 3-4 แสนฟอง ปริมาณจะลดลงเรื่อยๆ ตามอายุที่มากขึ้น รวมไปถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น พันธุกรรม พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือ การเป็นโรคเกี่ยวกับรังไข่ เช่น ช็อกโกแลตซีสต์ ก็ล้วนส่งผลให้ไข่มีการสลายเร็วมากขึ้นกว่าปกติ และไม่เพียงส่งผลต่อปริมาณของไข่ที่เหลืออยู่ในรังไข่เท่านั้น ยังส่งผลต่อคุณภาพของเซลล์ไข่อีกด้วย ที่สำคัญการผลิตไข่นั้นไม่สามารถเพิ่มจำนวนหรือสร้างขึ้นใหม่ได้
การตรวจวัดระดับฮอร์โมน AMH จะเป็นการตรวจเพื่อทดสอบสมรรถภาพของรังไข่ (Ovarian Reserve) โดยการเจาะเลือดสามารถบอกได้ว่ารังไข่ทำงานปกติหรือไม่ รวมถึงสามารถวัดได้ว่าในรังไข่ยังมีฟองไข่สะสมอยู่มากน้อยแค่ไหน เพื่อประเมินโอกาสการตั้งครรภ์ และยังช่วยให้แพทย์แนะนำแนวทางเพื่อเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ให้กับคุณผู้หญิงได้มากขึ้น อีกทั้งในกระบวนการเทคโนโลยีเพื่อการมีบุตรนั้น จะใช้ค่าบ่งชี้ของ AMH ในการทำนายว่า รังไข่จะสามารถตอบสนองการกระตุ้นไข่ด้วยยาที่ใช้มากแค่ไหน และควรใช้ปริมาณยามากน้อยเท่าไหร่ เพื่อให้มีการผลิตไข่ออกมาในปริมาณที่เหมาะสม
ขั้นตอนของการตรวจวัดระดับฮอร์โมน AMH
ขั้นตอนของการตรวจวัดระดับฮอร์โมน AMH ทำได้ง่ายและสะดวกด้วยการเจาะเลือด โดยไม่ต้องงดน้ำและอาหารล่วงหน้า และสามารถตรวจวันไหนก็ได้โดยไม่ต้องรอช่วงเวลาให้มีรอบเดือนแบบการตรวจฮอร์โมนจากรังไข่ตัวอื่นๆ เนื่องจากฮอร์โมน AMH ไม่ได้สัมพันธ์กับรอบประจำเดือน แถมยังทราบผลได้รวดเร็วภายในไม่กี่ชั่วโมง
ตรวจวัดระดับฮอร์โมน AMH
การตรวจวัดระดับฮอร์โมนบอกอะไรบ้าง
ตรวจวัดระดับฮอร์โมน AMH สามารถวิเคราะห์ผลได้ดังต่อไปนี้
AMH มากกว่า 4 ng/ml ถือว่าเป็นภาวะฮอร์โมนสูง สามารถบอกถึงสุขภาพภายในของฝ่ายหญิงได้ว่า อาจเสี่ยงต่อภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือ PCOS (Polycystic ovary syndrome)
AMH อยู่ในช่วง 1 – 4 ng/ml เป็นค่าฮอร์โมนปกติ
AMH อยู่ในช่วง 0.3 – 1 ng/ml ถือว่าเป็นภาวะฮอร์โมนที่ค่อนข้างต่ำ สามารถบอกถึงสุขภาพภายในของฝ่ายหญิงได้ว่า มีจำนวนไข่อยู่ค่อนข้างน้อย เสี่ยงต่อภาวะมีบุตรยาก
AMH น้อยกว่า 0.3 ng/ml ถือว่าเป็นภาวะฮอร์โมนต่ำ สมารถบอกถึงสุขภาพภายในของฝ่ายหญิงได้ว่า ตอนนี้จำนวนไข่เหลืออยู่จำนวนน้อยมากแล้ว เสี่ยงต่อภาวะบุตรยากสูง หากต้องการมีบุตรควรรีบปรึกษาแพทย์
ใครควรตรวจวัดระดับฮอร์โมน AMH
ที่ต้องการตรวจว่ามีไข่อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมกับการตั้งครรภ์หรือไม่
ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี และพยายามตั้งครรภ์มานานกว่า 12 เดือน
ผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี และพยายามตั้งครรภ์มานานกว่า 6 เดือน
ผู้ที่ต้องการฝากไข่ เพื่อวางแผนการมีบุตรในอนาคต
ผู้ที่ผ่านการรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัดหรือการผ่าตัดรังไข่
คลินิกส่งเสริมการมีบุตร เปิดให้บริการ : ทุกวันราชการ 13.00-16.00 น. (หยุดวันเสาร์ อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : โทร. 056-255451 ถึง 4 ต่อ 501 หรือ 136,142,436