คุณกำลังมองหาอะไร?

วั

วัคซีนสำหรับผู้สูงวัยตอนต้น

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

17.07.2567
83
1
แชร์
17
กรกฎาคม
2567

วัคซีนสำหรับผู้สูงวัยตอนต้น

บทความโดย พญ. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

        ได้มีโอกาสมาพบเพื่อนเพื่อนแพทย์หลายคนในวัยเดียวกัน เพื่อนๆ มีคำถามเกี่ยวกับวัคซีนสำหรับคนวัยเดียวกัน (ประมาณ 60 up แถมบางคนยังเป็น 607 ด้วย) เลยจะขอตอบคำถามของหลายหลายท่าน เขียนแบบให้แพทย์เพื่อนๆ กันอ่านแบบสั้นๆ นะคะ และใช้ technical terms ประกอบความเห็นส่วนตัว จึงไม่ใช่บทความทางวิชาการ ที่จะนำไปใช้อ้างอิงอย่างเป็นทางการนะคะ ใครจะนำไปแชร์ต่อหากคิดว่าเป็นประโยชน์ แก่แพทย์และบุคลากร ก็ยินดียิ่งค่ะ

คำถามรวบรวมได้ 10 ข้อ ดังนี้นะคะ

  1. สูงวัยอย่างพวกเราควรฉีดวัคซีนอะไรบ้าง (โดยไม่มีปัญหาเรื่อง affordability นะ)
  2. เคยฉีดวัคซีนงูสวัดแบบเก่ามาก่อนแล้วจำเป็นต้องฉีดแบบใหม่อีกหรือเปล่า
  3. พวกเรา ต้องฉีดวัคซีนไข้เลือดออกไหม
  4. พวกเราต้องฉีดวัคซีน โควิด-19 ไหม และบางคนฉีดเข็มล่าสุดไปเมื่อต้นปีแต่ไม่ใช่สายพันธุ์ XBB อย่างจำเป็นต้องฉีดซ้ำไหม
  5. พวกเรายังต้องฉีดวัคซีนเอชพีวีไหม
  6. เราควรฉีดวัคซีนบาดทะยักแบบไหน แค่คอตีบและบาดทะยักพอไหม
  7. ควรฉีดวัคซีน IP ดีไหม
  8. มีหมอผู้ใหญ่บางคนเจอคนไข้เจอี เลยสงสัยว่า พวกเราควรฉีดวัคซีนเจอีไหมและควรฉีดกี่เข็มดี
  9. พวกเราควรฉีดวัคซีน ตับเอ หรือ บีไหม ต้องเจาะเลือดไหม
  10. พวกเราควรฉีดวัคซีน MMR ไหม

 

คำถามที่ 1 สูงวัยอย่างพวกเราควรฉีดวัคซีนอะไรบ้าง (โดยไม่มีปัญหาเรื่อง affordability นะ)

ตอบ: มีวัคซีน 3 ตัวที่ป้องกันโรคสำคัญระยะยาวที่เพื่อนๆ ควรพิจารณาฉีดดังนี้ (ผู้เขียนก็ฉีดแล้ว)

  1. วัคซีน งูสวัด Shingrix ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 50 ปี ฉีดสองเข็มห่างกัน 2-6 เดือน ตัวนี้แพงหน่อย แต่ยิ่งสูงวัยยิ่งน่าฉีด เพราะแม้จะมี acyclovir รักษา แต่กว่าจะวินิจฉัยได้ก็ มีผื่นเจ็บปวดหรือมีภาวะแทรกซ้อนไปแล้ว โรคนี้ไม่น่าเป็น ถึงจะให้รักษาได้เร็วและรักษาได้ผลดีแค่ไหน ถ้าไม่เป็นได้จะดีกว่า
  2. วัคซีน บาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน Tdap (tetanus-diphtheria-acellular pertussis) ทุกคนควรจะต้องมีภูมิคุ้มกันป้องกัน 3 โรคนี้ตลอดชีวิต ควรฉีดทุก 10 ปี ให้ฉีดเมื่ออายุลงท้ายเลขศูนย์เช่น 60 70 80 90 จะได้ไม่ลืมกัน สำหรับพวกเราที่เพิ่งผ่าน 60 ปีกันมาหยกๆ แล้วยังไม่ได้ฉีดก็ควรรีบฉีดซะ แล้วก็นับว่าอันนี้เป็นเข็มของ 60 ปี เข็มหน้าก็อายุ 70 ปี จะใช้ยี่ห้อไหนก็ได้ไม่ต่างกันเท่าไหร่
  3. วัคซีนป้องกัน Invasive Pneumococcal Diseases (IPD) บางทีก็เรียกวัคซีนป้องกันปอดบวมจากนิวโม มีแบบ Conjugate (PCV) ซึ่งกระตุ้นผมภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า และแบบ polysaccharide (PPSV) โดยทั่วไปแนะนำให้ฉีด PCV ในผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีภาวะเสี่ยงเช่นโรคปอดโรคหัวใจ ฉีดแบบมากสายพันธุ์ไว้จะได้ครอบคลุมกว้างกว่า ตอนนี้มี PCV15 จะครอบคลุมสายพันธุ์ก่อโรคกว้างกว่า PCV13 หลังจากฉีดแล้วหนึ่งปีควรจะฉีดเพิ่มด้วย PPSV23 ( 23-valent polysaccharides) เพื่อครอบคลุมสายพันธุ์ให้กว้างขึ้น ปีหน้าคาดว่าจะมี PCV20 เข้ามาขาย ซึ่งจะป้องกันจะดีกว้างจนไม่ต้องฉีด PPSV23 ตาม

 

นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนอีก 2 ตัวซึ่งควรฉีดทุกปี คือวัคซีนโควิด-19 และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพราะทั้งสองโรคนี้เป็นซ้ำได้เรื่อยเรื่อย ไม่จำเป็นก็อย่าเป็นดีกว่า เพราะวุ่นวายรักษา แยกตัว ไม่สบาย ถ้าโชคไม่ดีอาจมีอาการมาก และเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือมี Long COVID ได้ วัคซีนโควิด-19 จะอัพเดทสายพันธุ์ช่วงปลายปี ส่วนไข้หวัดใหญ่จะ อัพเดทปีละสองครั้งคือต้นปี (ซีกโลกใต้) และปลายปี (ซีกโลกเหนือ) ควรฉีดทันทีที่มีโอกาส เพราะถ้าช้าอาจจะติดเชื้อไปเสียก่อน

คำถามที่ 2 เคยฉีดวัคซีนงูสวัดแบบเก่ามาก่อนแล้วจำเป็นต้องฉีดแบบใหม่อีกหรือเปล่า

ตอบ: จำเป็น เพราะวัคซีน แบบเก่าที่เคยมีจำหน่ายเป็นชนิดเชื้อมีชีวิตประสิทธิภาพไม่ค่อยสูงและ อยู่ไม่ยาวนาน (หลังฉีด 3-5 ปี ประสิทธิภาพก็จะลดลงจนต่ำมาก) ในขณะที่วัคซีนตัวใหม่มีประสิทธิภาพสูงกว่ามาก อยู่ได้ยาวนานกว่า สามารถกระตุ้นภูมิภูมิคุ้มกันในคนที่เคยฉีดแบบเก่ามาก่อนได้ดี

คำถามที่ 3 พวกเรา ต้องฉีดวัคซีนไข้เลือดออกไหม

ตอบ: วัคซีนไข้เลือดออก Qdenga เป็นตัวใหม่ที่เพิ่งออกมาได้ผลดีมาก ในการป้องกัน dengue type 2 (ประมาณ 95%) และ type 1 (ประมาณ  70%) ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่ก่อโรคในบ้านเรา แต่วัคซีนตัวนี้ขึ้นทะเบียนถึงอายุเพียง 60 ปี พวกเราก็พ้นวัยฉีดแล้ว แต่ถ้าใครกังวลโรคนี้มากเพราะอยู่ในพื้นที่ชุกชุม อยากจะ off-label สักหนึ่งเข็ม เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ก็ขอให้มารับคำแนะนำเป็นรายๆ ไป ผู้สูงวัยเป็นไข้เลือดออกน้อย (แต่ถ้าเป็นขึ้นมาก็จะเสี่ยงที่จะรุนแรงได้มากกว่า)

คำถามที่ 4 พวกเราต้องฉีดวัคซีน โควิด-19 ไหม และบางคนฉีดเข็มล่าสุดไปเมื่อต้นปีแต่ไม่ใช่สายพันธุ์ XBB ยังจำเป็นต้องฉีดซ้ำไหม

ตอบ: ควรฉีดสายพันธุ์อัพเดททุกปี ทุกครั้งที่เราฉีดวัคซีนป้องกันโควิดสายพันธุ์อัพเดทจะทำให้เราป้องกันโรคได้เพิ่มขึ้นประมาณ 50 ถึง 60% และป้องกันความรุนแรงมากได้ดีขึ้นจากสายพันธุ์ปัจจุบันได้เกิน 80% เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน ใครยังไม่เคยได้ XBB ควรรีบไปฉีดก่อนที่จะเป็นไปเสียก่อน ปลายปีนี้จะมีสายพันธุ์อัพเดทผลิตออกมา เป็น JN1 แต่กว่าจะมาเมืองไทยอาจจะเป็นต้นปีหน้า พวกเราก็จะได้ฉีดต้นปีหน้าอีกที ช่วงเวลาพร้อมๆกับไข้หวัดใหญ่

คำถามที่ 5 พวกเรายังต้องฉีดวัคซีนเอชพีวีไหม

ตอบ: ไม่จำเป็นแล้ว วัคซีนตัวนี้ขึ้นทะเบียนถึงเพียงอายุ 45 ปี นอกจากนี้ อายุระดับพวกเราไม่น่าจะเสี่ยงที่จะได้เชื้อใหม่แล้ว

คำถามที่ 6 เราควรฉีดวัคซีนบาดทะยักแบบไหน แค่คอตีบและบาดทะยักพอไหม

ตอบ: เราควรต้องมีภูมิคุ้มกันป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยักตลอดชีวิต เพราะเป็นโรคร้ายรุนแรงทั้งคู่ และถ้าให้ดีก็ป้องกัน ไอกรนในเข็มเดียวกันไปเลย จึงควรฉีดเป็น Tdap มากกว่า Td

คำถามที่ 7 ควรฉีดวัคซีน IPD ดีไหม

ตอบ: ควรเมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไป ดูคำอธิบายข้างต้นด้วย อีกไม่นานพวกเราน่าจะได้ฉีด PCV20 ไปเลย

คำถามที่ 8 มีหมอผู้ใหญ่บางคนเจอคนไข้เจอี เลยสงสัยว่า พวกเราควรฉีดวัคซีนเจอีไหมและควรฉีดกี่เข็มดี

ตอบ: ไม่จำเป็น เพราะคนไทยส่วนใหญ่ ประมาณ 70% มีภูมิคุ้มกันแล้ว กลุ่มสูงวัยจะมีภูมิแล้วเกือบ 90% จากการติดเชื้อตามธรรมชาติ

 

คำถามที่ 9 พวกเราควรฉีดวัคซีน ตับเอ หรือ บีไหม ต้องเจาะเลือดไหม

ตอบ: ทุกคนควรต้องมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบเอและบี ผู้ใหญ่ทุกคนที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีน ควรตรวจเลือดอย่างน้อยหนึ่งครั้งว่าเคยติดเชื้อมาก่อนหรือมีภูมิคุ้มกันแล้วหรือยัง หากยังไม่มีก็ควรฉีดวัคซีนทุกคน ใครยังไม่เคยตรวจรีบไปจัดการ

 

คำถามที่ 10 พวกเราควรฉีดวัคซีน MMR ไหม

ตอบ: แม้ว่าทุกคนจำเป็นต้องมีภูมิคุ้มกันต่อโรคหัด แต่คนไทยที่มี อายุเกิน 40 ปี มักจะมีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อตามธรรมชาติไปเรียบร้อยแล้ว อายุรุ่นเราจึงไม่ต้องกังวล

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน