กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
โรคสมาธิสั้นในเด็ก (ADHD in children: Attention-deficit / Hyperactivity disorder) เป็นโรคที่สามารถพบได้ทั่วไปในเด็ก จะมีอาการขาดสมาธิ ซุกซนผิดปกติ อยู่ไม่นิ่ง หรือหุนหันพลันแล่นตลอดเวลา ซึ่งเป็นผลมาจากการที่สารเคมีบางอย่างในสมองทำงานลดลง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการมีสมาธิและการควบคุมตนเอง
สาเหตุโรคสมาธิสั้น เกิดจากสารสื่อประสาทที่บริเวณสมองส่วนหน้าบางชนิด เช่น โดพามีน (Dopamine) หรือ นอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) หลั่งออกมาน้อยกว่าปกติ ซึ่งสารเหล่านี้ทำหน้าที่ในการควบคุมเรื่องสมาธิจดจ่อ การควบคุมตนเองทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ โดยมีสาเหตุปัจจัยหลัก ดังนี้
1. ปัจจัยทางกรรมพันธุ์ ซึ่งเป็นปัจจัยทางชีวภาพที่สำคัญที่สุด โดยพบว่าหากพ่อหรือแม่มีประวัติเป็นโรคสมาธิสั้น หรือเคยเป็นโรคสมาธิสั้นมาก่อน ก็มีโอกาสสูงที่ลูกจะเป็นโรคสมาธิสั้นได้ถึงร้อยละ 57
2. ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม เช่น มีการสะสมของสารโลหะหนัก หรือสารพิษในร่างกาย เช่น สารตะกั่ว ที่ปะปนอยู่ในมลภาวะ หรือสิ่งแวดล้อม
3. ปัจจัยทางด้านพฤติกรรมของมารดาขณะตั้งครรภ์ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา หรือการใช้สารเสพติด
4. การคลอดก่อนกำหนด หรือเด็กที่มีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อยกว่าปกติ โดยอาจพบภาวะบกพร่องในทักษะการเรียนรู้ของเด็กในวัยเรียน (Learning disorder) ร่วมด้วย
อาการของโรคสมาธิสั้น แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มอาการหลัก ดังนี้
1. อาการขาดสมาธิอย่างต่อเนื่อง (Inattentiveness) ไม่สามารถใช้สมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน ไม่มีสมาธิในการรับฟัง ไม่ปฎิบัติตามคำสั่ง ทำงานหรือทำการบ้านไม่เสร็จ ไม่สามารถจัดลำดับในการทำงานได้ หลีกเลี่ยงงานที่ไม่ชอบ มักหลงลืมสิ่งของที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน วอกแวก ไปตามสิ่งเร้า หรือสิ่งที่ตนเองสนใจ
2. อาการขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง ซุกซนผิดปกติ และอยู่ไม่นิ่ง (Hyperactivity and impulsivity) ขาดสติ ความยับยั้งชั่งใจ ใจร้อน วู่วาม หุนหันพลันแล่น ตื่นตัว และเคลื่อนไหวตลอดเวลา พูดไปเรื่อย พูดไม่หยุด ขัดบทสนทนา พูดแทรก ไม่มีความอดทนในการรอคอย ก้าวร้าว เอาแต่ใจ และมีอารมณ์ฉุนเฉียว รุนแรง
3. มีอาการร่วมกัน ทั้งการการขาดสมาธิ ขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง และอยู่ไม่นิ่ง ขาดความสามารถในการควบคุมตนเองในการแสดงออกซึ่งอารมณ์ และพฤติกรรม และมักขาดการยั้งคิด
หากสงสัยบุตรหลานอาจมีอาการของโรคสมาธิสั้น แนะนำให้ผู้ปกครองสังเกตอาการ รวบรวมพฤติกรรมของบุตรหลาน และปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการ เพื่อตรวจรักษาและวินิจฉัย การตรวจรักษาและวินิจฉัยแต่เนิ่น ๆ จะทำให้มีโอกาสสูงที่จะประสบความสำเร็จในการรักษา
บทความโดย แพทย์หญิงอภิญญา พงศ์วนัสบดี
แพทย์ชำนาญการด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น
โรงพยาบาลศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คลินิกสุขใจ Smile Clinic โทรศัพท์ 056-255451 ถึง 4 ต่อ 182